บ้านเรือนไทยทั้ง 4 ภาค

บ้านเรือนไทยทั้ง 4 ภาค เป็นอย่างไรบ้าง?

ขึ้นชื่อว่าเป็น “บ้านเรือนไทย” ย่อมเป็นสิ่งที่แสดงเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างมากเลยก็ว่าได้ครับ ซึ่งลักษณะของบ้านเรือนไทยจะถูกแบ่งออกเป็นแต่ละภูมิภาคเป็นหลัก ซึ่งในบทความนี้จะพาทุกๆ ท่านไปทำความรู้จักกันครับ จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น.. เราไปชมกันดีเล้ยย!!

●บ้านเรือนไทยภาคเหนือ

เนื่องจากพื้นที่ภาคเหนือมีอากาศหนาวเย็น บ้านเรือนไทยทางภาคเหนือจึงนิยมสร้างเป็นเรือนแฝด และมีหลังคาเตี้ยกว่าเรือนไทยภาคอื่น ๆ รวมถึงสัดส่วนของตัวบ้านด้วยเช่นกัน โดยนิยมสร้างบ้านเรือนให้ปิดมิดชิด เจาะหน้าต่างเล็ก ๆ เพื่อปกป้องผู้อยู่อาศัยจากอากาศเย็น และใช้วัสดุที่หาได้จากท้องถิ่น

●บ้านทรงไทยภาคกลาง

บ้านเรือนไทยภาคกลางส่วนใหญ่นิยมสร้างใกล้กับที่ราบลุ่มแม่น้ำเช่นเดียวกับบ้านภาคอีสาน แต่เนื่องจากภาคกลางมีอากาศร้อนอบอ้าว คนส่วนใหญ่จึงมักสร้างบ้านหลังคาสูง เพื่อถ่ายเทความร้อนออกจากตัวบ้าน และช่วยให้น้ำฝนไหลลงจากหลังคาได้เร็ว โดยบ้านเรือนไทยภาคกลางมักสร้างด้วยไม้ไผ่สลับไม้เนื้อแข็ง นิยมสร้าง 2 รูปแบบ ดังต่อไปนี้

– เรือนเดี่ยว ครอบครัวขนาดเล็กมีเรือนนอน แยกกับเรือนครัว และมีการเชื่อมด้วยชานเดียวกัน

– เรือนหมู่ เรือนหลายหลังเชื่อมต่อกัน เป็นเรือนของผู้มีฐานะมาก วัสดุก่อสร้างเป็นเรือนไม้เนื้อแข็ง ใต้ถุนสูง หลังคาจั่วทรงสูง อ่อนโค้ง ประดับด้านจั่ว “เหงา” หรือ “หางปลา” มีระเบียงบ้านรับลม

●บ้านทรงไทยภาคใต้

เนื่องจากภูมิประเทศทางภาคใต้นั้นแตกต่างจากภูมิภาคอื่น ๆ เป็นอย่างมาก เพราะมีฝนตกชุกตลอดทั้งปี ผู้คนทางภาคใต้จึงมักสร้างบ้านที่มีหลังคาสูงเพื่อระบายน้ำฝนให้ไหลลงผ่านชาคาที่คลุมไปถึงบันได และนิยมใช้ไม้กระดาน ไม้ไผ่สาน หรือวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น นอกจากนี้ตามหลักวัฒนธรรม และความเชื่อของภาคใต้ การปลูกบ้านจึงมีทั้งหมด 2 แบบ คือ เรือนไทยมุสลิม และเรือนไทยพุทธ ดังนี้

– เรือนไทยพุทธภาคใต้ ลัษณะเรือนไม้ใต้ถุนสูง มีหลังคาทรงปั้นหยา และจั่วภายในบ้านมีการกั้นห้องแบ่งเป็นสัดส่วน ชายคายื่นยาว หรือชานเชื่อมแต่ละเรือนเข้าด้วยกัน การก่อสร้างไม่ซับซ้อน

– เรือนไทยมุสลิมภาคใต้ เน้นใต้ถุนสูง มีหลังคา 3 แบบ ปั้นหยา มนิลา และ จั่ว ภายในสบาย มักจะเปิดโล่ง มีเฉพาะห้องที่สำคัญเป็นส่วนตัวเท่านั้น

●บ้านเรือนไทยภาคอีสาน

ที่อยู่อาศัยภาคอีสานส่วนใหญ่ มักตั้งอยู่ตามที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ หรือหนองบึง และนิยมสร้างด้านกว้างให้หันไปทางทิศตะวันออก และทิศตะวันตก และสร้างด้านยาวไปทางทิศเหนือและทิศใต้ โดยบ้านเรือนไทยภาคอีสานที่นิยมสร้างมีทั้งหมด 3 แบบ ได้แก่

– เฮือนเกย เป็นเฮือนเดี่ยว มีการออกแบบยื่นชายคาหลังคาด้านหนึ่งยาวออกไป คลุมพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด เรียกว่า “เกย”

– เฮือนแฝด หลังคาทรงจั่วสองเรือนสร้างชิดกัน มีผนังครบทุกด้าน เป็น “เฮือนใหญ่”

– เฮือนโข่ง มีลักษณะคล้ายเฮือนแฝด มีการแยกโครงสร้างออกจากกัน เพื่อให้เกิดเป็นช่องทางเดินตรงกลางเชื่อมต่อพื้นที่ หลังคาลาดชันน้อย

ไม้ที่เป็นวัสดุหลักในการสร้างบ้านนั้นมีชนิดใดบ้าง?

ไม้ที่ถูกนำมาทำเป็นบ้านหลักๆ แล้วสามารถแบ่งตามลักษณะของเนื้อไม้ได้ 2 แบบ อันได้แก่…

ไม้เนื้อแข็ง เป็นประเภทไม้ที่มีความแข็งแรงทนทาน นิยมนำมาวางโครงสร้างบ้าน เสา เพดาน คาน และพื้นบ้าน โดยมีความปลอดภัยไม่ผุพังง่าย สำหรับไม้เนื้อแข็งที่นิยมนำมาสร้างบ้านคือ ไม้เต็ง, ไม้รัง, ไม้แดง, ไม้ตะแบก และไม้ตะเคียนทอง

ไม้เนื้ออ่อน ถึงแม้จะเป็นประเภทไม้ที่มีความแข็งแรงไม่เท่ากับไม้เนื้อแข็ง แต่ข้อดีคือลวดลายเป็นธรรมชาติที่สวยงาม มักนิยมมาตกแต่งทำประตู หน้าต่าง ผนัง หรือเฟอร์นิเจอร์ ที่สำคัญคือมีราคาไม่สูงมาก โดยไม้เนื้ออ่อนที่นิยมนำมาสร้างบ้าน ได้แก่ ไม้สัก ไม้สน และไม้ยาง

โอ้โหว เห็นมั้ยหล่ะครับว่า บ้านเรือนไทยแต่ละภาคนั้นน่าสนใจเป็นอย่างมาก แถมยังมีประโยชน์ที่น่าสนใจกันคนละแบบเลยก็ว่าได้ครับ หวังว่าบทความของเราจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกๆ ท่านกันนะครับ