เรือนไทย

บ้านเรือนไทยทั้ง 4 ภาคเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

หากจะกล่าวถึงบ้านเรือนไทยแล้วหล่ะก็…คงไม่มีใครไม่นึกถึงหนังหรือละครย้อนยุคชื่อดังอย่างเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ก็ดี เรื่อง “ขุนช้าง-ขุนแผน” ก็มักจะเป็นที่กล่าวถึงอยู่ไม่ใช่น้อย แต่จะมีท่านใดทราบกันบ้างหล่ะครับว่า…บ้านเรือนไทยนั้นถูกแบบออกเป็นหลายๆ แบบและแต่ละพื้นที่นั้น การปลูกบ้านเรือนไทยจะแตกต่างกันออกไปครับ บทความนี้จะขอพาทุกๆ ท่านไปค้นหาเกี่ยวกับ “บ้านเรือนไทยทั้ง 4 ภาคเหมือนหรือต่างกันอย่างไร” เพื่อเป็นความรู้กันครับ

ทำไมจึงเรียกว่า บ้านเรือนไทยทั้ง 4 ภาค

บ้านเรือนไทย 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ ถือเป็นอีกหนึ่งแบบบ้านที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ไทยได้เป็นอย่างดี นอกจากการออกแบบที่สวยงาม โดดเด่น เรือนไทย 4 ภาคส่วนใหญ่ มักออกแบบแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมขึ้นอยู่กับภูมิประเทศ ภูมิอากาศ โดยเน้นที่ความสะดวกสบาย และประโยชน์ใช้สอย

รูปแบบของบ้านเรือนไทย 4 ภาค

1. บ้านเรือนไทยภาคเหนือ

พื้นที่ภาคเหนือนั้นมีอากาศที่หนาวเย็นกว่าภาคอื่นๆ บ้านเรือนไทยทางเหนือจึงนิยมสร้างเป็นเรือนแฝด และมีหลังคาเตี้ยกว่าเรือนไทยภาคอื่นๆ รวมถึงสัดส่วนของตัวบ้านก็เตี้ยกว่าด้วยเช่นกัน มักนิยมสร้างบ้านเรือนให้ปิดมิดชิด หน้าต่างบานเล็กๆ เพื่อปกป้องผู้อยู่อาศัยจากอากาศเย็นนั้นเอง โดยบ้านเรือนไทยภาคเหนือมักเรียกว่า “เรือนกาแล” ซึ่งมีความสวยงามอย่างมาก เรียกได้ว่าเป็นเรือนสำหรับผู้ที่มีฐานะ อย่างเช่น ผู้นำชุมชน หัวหน้า เป็นต้น โดยจะมีลักษณะที่แตกต่างไปจากเรือนสามัญชน จุดเด่นของเรือนกาแลมีสลักสวยงามที่ปลายยอดจั่ว เนื้อไม้แข็ง ยกใต้ถุนสูง

2.บ้านเรือนไทยภาคอีสาน

ภาคอีสานส่วนใหญ่ มักตั้งอยู่ตามที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ หรือหนองบึงและนิยมสร้างด้านกว้างให้หันไปทางทิศตะวันออก และทิศตะวันตก และสร้างด้านยาวไปทางทิศเหนือและทิศใต้ โดยบ้านเรือนไทยภาคอีสานที่นิยมสร้างมีทั้งหมด 3 แบบ ได้แก่

●เฮือนเกย เป็นเฮือนเดี่ยว มีการออกแบบยื่นชายคาหลังคาด้านหนึ่งยาวออกไป คลุมพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด เรียกว่า “เกย”

●เฮือนแฝด หลังคาทรงจั่วสองเรือนสร้างชิดกัน มีผนังครบทุกด้าน เป็น “เฮือนใหญ่”

●เฮือนโข่ง มีลักษณะคล้ายเฮือนแฝด มีการแยกโครงสร้างออกจากกัน เพื่อให้เกิดเป็นช่องทางเดินตรงกลางเชื่อมต่อพื้นที่ หลังคาลาดชันน้อย

3.บ้านเรือนไทยภาคกลาง

ภาคกลางส่วนใหญ่นิยมสร้างใกล้กับที่ราบลุ่มแม่น้ำเช่นเดียวกับบ้านภาคอีสาน แต่เนื่องจากภาคกลางมีอากาศร้อนอบอ้าว คนส่วนใหญ่จึงมักสร้างบ้านหลังคาสูง เพื่อถ่ายเทความร้อนออกจากตัวบ้าน และช่วยให้น้ำฝนไหลลงจากหลังคาได้เร็ว โดยบ้านเรือนไทยภาคกลางมักสร้างด้วยไม้ไผ่สลับไม้เนื้อแข็ง นิยมสร้าง 2 รูปแบบ ดังต่อไปนี้

เรือนเดี่ยว ครอบครัวขนาดเล็กมีเรือนนอน แยกกับเรือนครัว และมีการเชื่อมด้วยชานเดียวกัน

เรือนหมู่ เรือนหลายหลังเชื่อมต่อกัน เป็นเรือนของผู้มีฐานะมาก วัสดุก่อสร้างเป็นเรือนไม้เนื้อแข็ง ใต้ถุนสูง หลังคาจั่วทรงสูง อ่อนโค้ง

4.บ้านเรือนไทยภาคใต้

เนื่องจากภูมิประเทศทางภาคใต้นั้นแตกต่างจากภูมิภาคอื่น ๆ เป็นอย่างมาก เพราะมีฝนตกชุกตลอดทั้งปี ผู้คนทางภาคใต้จึงมักสร้างบ้านที่มีหลังคาสูงเพื่อระบายน้ำฝนให้ไหลลงผ่านชาคาที่คลุมไปถึงบันได และนิยมใช้ไม้กระดาน ไม้ไผ่สาน หรือวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น นอกจากนี้ตามหลักวัฒนธรรม และความเชื่อของภาคใต้ การปลูกบ้านจึงมีทั้งหมด 2 แบบ คือ เรือนไทยมุสลิม และเรือนไทยพุทธ ดังนี้

เรือนไทยพุทธภาคใต้ ลัษณะเรือนไม้ใต้ถุนสูง มีหลังคาทรงปั้นหยา และจั่วภายในบ้านมีการกั้นห้องแบ่งเป็นสัดส่วน

เรือนไทยมุสลิมภาคใต้ เน้นใต้ถุนสูง มีหลังคา 3 แบบ ปั้นหยา มนิลา และ จั่ว ภายในสบาย มักจะเปิดโล่ง มีเฉพาะห้องที่สำคัญเป็นส่วนตัวเท่านั้น

และนี้คือความรู้เกี่ยวกับ “บ้านเรือนไทย 4 ภาค” ที่เราได้นำมาฝากทุกๆ ท่านกันครับ จะเห็นได้ว่าบ้านเรือนไทยแต่ละภาค ไม่ว่าจะเป็น ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ นั้นมีลักษณะบ้านที่ไม่เหมือนกัน มักปลูกสร้างตามภูมิภาค คำนึงสภาพอากาศ ความเป็นอยู่ แต่จุดที่เหมือนกันเลยก็คือหลังคาบ้านที่เป็นหลังคาจั่ว ที่ระบายน้ำ และความร้อนได้ดีนั้นเองครับ เราหวังว่าบทความนี้จะเป็นปะโยชน์นะครับ