บ้านทรงไทย

ความรู้จักบ้านเรือนไทย

 “บ้าน” เรียกได้ว่าเป็นสถานที่สำคัญของเราทุกๆ คนที่จะเป็นที่ให้พักพิงหลบหนีจากความวุ่นวายต่างๆ ที่ได้ประสบพบเจอกันมาตลอดทั้งวัน เป็นที่ให้เราได้พักผ่อนร่างกายและจิตใจได้เป็นอย่างดี ซึ่งบ้านก็มีมากมายหลายลักษณะที่น่าสนใจ วันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับ “บ้านทรงไทย” กันสักหน่อยครับ เพื่อเป็นการไม่เสียเวลาเราไปลุยกันดีกว่าครับ

บ้านทรงไทย

บ้านทรงไทย หรือ เรือนไทย ที่แต่เดิมที่นิยมใช้วัสดุจำพวกไม้ ไปจนถึงเครื่องก่ออิฐถือปูน โดยมีลักษณะร่วมที่เหมือนหรือแตกต่างกันไปตามแต่ละที่ ได้แก่ เรือนไทยภาคเหนือ เรือนไทยภาคกลาง เรือนไทยภาคอีสาน และ เรือนไทยภาคใต้ ซึ่งล้วนสอดคล้องกับการดำรงชีวิตของคนไทยในสมัยก่อนและแสดงออกถึงภูมิปัญญาไทย ทั้งนี้องค์ประกอบที่มีผลต่อรูปแบบเรือนไทยมีทั้งเรื่องสภาพแวดล้อม ภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ อาชีพ ฐานะความเป็นอยู่ คติความเชื่อและศาสนาในแต่ละภูมิภาค

ถูกแบ่งออกเป็น 4 แบบตามภูมิภาค อันได้แก่…

บ้านทรงไทยภาคกลาง

บ้านเรือนไทยภาคกลางส่วนใหญ่นิยมสร้างใกล้กับที่ราบลุ่มแม่น้ำเช่นเดียวกับบ้านภาคอีสาน แต่เนื่องจากภาคกลางมีอากาศร้อนอบอ้าว คนส่วนใหญ่จึงมักสร้างบ้านหลังคาสูง เพื่อถ่ายเทความร้อนออกจากตัวบ้าน และช่วยให้น้ำฝนไหลลงจากหลังคาได้เร็ว โดยบ้านเรือนไทยภาคกลางมักสร้างด้วยไม้ไผ่สลับไม้เนื้อแข็ง นิยมสร้าง 2 รูปแบบ ดังต่อไปนี้

–          เรือนเดี่ยว ครอบครัวขนาดเล็กมีเรือนนอน แยกกับเรือนครัว และมีการเชื่อมด้วยชานเดียวกัน

–          เรือนหมู่ เรือนหลายหลังเชื่อมต่อกัน เป็นเรือนของผู้มีฐานะมาก วัสดุก่อสร้างเป็นเรือนไม้เนื้อแข็ง ใต้ถุนสูง หลังคาจั่วทรงสูง อ่อนโค้ง ประดับด้านจั่ว “เหงา” หรือ “หางปลา” มีระเบียงบ้านรับลม

บ้านทรงไทยภาคใต้

เนื่องจากภูมิประเทศทางภาคใต้นั้นแตกต่างจากภูมิภาคอื่น ๆ เป็นอย่างมาก เพราะมีฝนตกชุกตลอดทั้งปี ผู้คนทางภาคใต้จึงมักสร้างบ้านที่มีหลังคาสูงเพื่อระบายน้ำฝนให้ไหลลงผ่านชาคาที่คลุมไปถึงบันได และนิยมใช้ไม้กระดาน ไม้ไผ่สาน หรือวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น นอกจากนี้ตามหลักวัฒนธรรม และความเชื่อของภาคใต้ การปลูกบ้านจึงมีทั้งหมด 2 แบบ คือ เรือนไทยมุสลิม และเรือนไทยพุทธ ดังนี้

–          เรือนไทยพุทธภาคใต้ ลัษณะเรือนไม้ใต้ถุนสูง มีหลังคาทรงปั้นหยา และจั่วภายในบ้านมีการกั้นห้องแบ่งเป็นสัดส่วน ชายคายื่นยาว หรือชานเชื่อมแต่ละเรือนเข้าด้วยกัน การก่อสร้างไม่ซับซ้อน

–          -เรือนไทยมุสลิมภาคใต้ เน้นใต้ถุนสูง มีหลังคา 3 แบบ ปั้นหยา มนิลา และ จั่ว ภายในสบาย มักจะเปิดโล่ง มีเฉพาะห้องที่สำคัญเป็นส่วนตัวเท่านั้น

บ้านเรือนไทยภาคอีสาน

ที่อยู่อาศัยภาคอีสานส่วนใหญ่ มักตั้งอยู่ตามที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ หรือหนองบึง และนิยมสร้างด้านกว้างให้หันไปทางทิศตะวันออก และทิศตะวันตก และสร้างด้านยาวไปทางทิศเหนือและทิศใต้ โดยบ้านเรือนไทยภาคอีสานที่นิยมสร้างมีทั้งหมด 3 แบบ ได้แก่

– เฮือนเกย เป็นเฮือนเดี่ยว มีการออกแบบยื่นชายคาหลังคาด้านหนึ่งยาวออกไป คลุมพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด เรียกว่า “เกย”

– เฮือนแฝด หลังคาทรงจั่วสองเรือนสร้างชิดกัน มีผนังครบทุกด้าน เป็น “เฮือนใหญ่”

– เฮือนโข่ง มีลักษณะคล้ายเฮือนแฝด มีการแยกโครงสร้างออกจากกัน เพื่อให้เกิดเป็นช่องทางเดินตรงกลางเชื่อมต่อพื้นที่ หลังคาลาดชันน้อย

บ้านเรือนไทยภาคเหนือ

เนื่องจากพื้นที่ภาคเหนือมีอากาศหนาวเย็น บ้านเรือนไทยทางภาคเหนือจึงนิยมสร้างเป็นเรือนแฝด และมีหลังคาเตี้ยกว่าเรือนไทยภาคอื่น ๆ รวมถึงสัดส่วนของตัวบ้านด้วยเช่นกัน โดยนิยมสร้างบ้านเรือนให้ปิดมิดชิด เจาะหน้าต่างเล็ก ๆ เพื่อปกป้องผู้อยู่อาศัยจากอากาศเย็น และใช้วัสดุที่หาได้จากท้องถิ่น

จุดเด่นของบ้านทรงที่คุ้นตาและมีประโยชน์มากกว่าความสวยงาม

มีใต้ถุนสูงป้องกันน้ำท่วมและสัตว์ร้ายได้ เราจะเห็นได้กันตามต่างจังหวัดและในละครไทยใช่มั้ยหล่ะครับว่า ตัวเรือนจะอยู่สูงจากพื้นเป็นอย่างมาก เพราะในสมัยก่อนพื้นที่ส่วนใหญ่ของไทยนั้นมักจะมีน้ำหลากมากกว่าปัจจุบัน จึงทำให้การออกแบบเรือยไทยในสมัยก่อนจึงมีลักษณะสูง อีกทั้งหลังคาที่เป็นหน้าจั่วสูงนั้นจะช่วยให้ตัวบ้านสามารถระบายอากาศได้ง่ายขึ้นนั้นเองครับ

เป็นอย่างไรกันบ้างนครับกับ “ความรู้จักบ้านเรือนไทย” ที่เราได้นำมาให้ทุกๆ ท่านได้รู้จักกันในวันนี้ เรียกได้ว่าเข้าใจกันมากขึ้นสินะครับ สุดท้ายนี้ขอให้ท่านได้มีโอกาสสัมผัสเรือนไทยกันนะครับ