วันเช็งเม้ง

กำเนิดวันเช็งเม้ง ตำนานเทศกาลแห่งความกตัญญู

เทศกาลเช็งเม้ง คือหนึ่งในเทศกาลและประเพณีสำคัญของคนจีน ซึ่งนั่นรวมไปถึงคนไทยเชื้อสายจีนด้วย จัดว่าเทศกาลนี้เป็นเทศกาลและงานประเพณีแห่งความกตัญญูอย่างหนึ่ง เป็นช่วงเวลาที่ลูกหลานจะมารวมตัวกันร่วมรำลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไป สำหรับในปี 2563 นี้วันเช็งเม้ง ตรงกับวันที่เสาร์ที่ 4 เมษายน 2563 ซึ่งโดยปกติแล้วคนไทยเชื้อสายจีน มักจะเริ่มต้นไหว้เช็งเม้งกันก่อนหน้านั้น คือ นิยมไหว้ก่อนวันตรง เพราะบางครอบครัวอาจไม่ว่างต้องทำงานในวันตรงพอดี เลยมีการไหว้ก่อนที่จะถึงกำหนดวัน สำหรับคนรุ่นใหม่อาจจะยังไม่รู้ว่าเทศกาลประเพณีนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร มาพบคำตอบกันได้เลย

ตำนานกำเนิดเช็งเม้ง

มีเรื่องเล่าจากคนจีนโบราณสืบต่อกันมาถึงเรื่องกำเนิดการไหว้เช็งเม้งว่า ในสมัยชุนชิว ซึ่งก็คือเมื่อประมาณ 2,000 กว่าปีก่อนที่มณฑลซานซีของจีน (แต้จิ๋วออกเสียงว่า ซัวไซ) ที่เมืองไก่ฮิว เจ้าชายจิ่ง หรือ จิ่งกงจื้อ ผู้เป็นพระราชโอรสของแคว้นเฉิน มีเหตุให้ถูกเนรเทศจากบ้านเมืองไปนานถึง 19 ปี แต่แล้วในที่สุดก็กลับมาทวงบัลลังก์และเข้ามาเป็นใหญ่เป็นโตในราชสำนักรั้งตำแหน่งเป็นจิ่งบุ้งกงอีกครั้ง

หลังจากพระองค์ได้กลับมาเป็นใหญ่ ก็ทรงสำนึกในน้ำใจของบรรดาข้าเก่าเต่าเลี้ยง ที่เคยยอมไปลำบากกับพระองค์ในตอนที่ตกยาก พระองค์ให้ทหารประกาศออกไปเพื่อให้บุคคลเหล่านั้นมาลงชื่อแสดงตัวเพื่อรับรางวัลเป็นตำแหน่งขุนนางบ้าง เงินทองใส่กระเป๋ากลับไปบ้าง

หลังจากมีพระราชโองการประกาศ ก็มีข้าราชบริพารและบุคคลทั่วไปที่เกี่ยวข้องมาลงชื่อรับรางวัลกันมากมาย แต่มีชายผู้หนึ่งนามว่า ไก่จื้อชุย ไม่ได้มาลงชื่อรับรางวัล เพราะเขาไม่สบายจึงไม่ได้ทราบข่าว ซึ่งชายผู้นี้เคยนำน่องไก่ไปมอบให้จิ่งบุ้งกงตอนตกยาก เพื่อเป็นอาหารประทังชีวิต ตัวไก่จื้อชุยเป็นคนที่ไม่ได้มักใหญ่ใฝ่สูง เขาเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาก็มองว่าทุกสิ่งเป็นเรื่องของ ลิขิตสวรรค์ เขากับแม่กลับไปอยู่ป่าอยู่ดงทำมาหากินตามประสาชาวป่าชาวเขาตามเดิม

จิ่งบุ้งกงทรงทราบความจึงออกตามหาไก่จื้อชุยพร้อมมารดา แต่ระหว่างที่ตามหามีคนแนะนำพระองค์ว่าถ้าจุดไฟเผาป่า ไก่จื้อชุยซึ่งเป็นคนกตัญญูก็จะแบกแม่ออกมาจากป่าทันที แต่สุดท้ายเมื่อจุดไฟเผาป่าไปแล้ว คนทั้งคู่ไม่ออกมา รออยู่หลายวันก็ไม่มีใครเห็น หลังจากเพลิงสงบทุกคนก็ออกตามหาอีกครั้ง แต่คราวนี้ทุกคนต่างเห็นสภาพสลด เพราะใต้ต้นไม้ใหญ่แห่งหนึ่ง ปรากฏซากร่างดำเป็นตอตะโก 2 ร่าง นั่นคือไก่จื้อชุยและมารดาของเขา ซากนั้นอยู่ในสภาพที่เขาพยายามแบกแม่ขึ้นหลังเพื่อหนีไฟออกมา แต่ทั้งคู่นี้ไม่พ้นจึงจบชีวิตในกองไฟ

จิ่งบุ้งกงเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมาก จึงมีประกาศพราะราชโองการให้วันนี้ของทุกปี เป็นวันรำลึกถึงชายผู้นี้ ทั้งความดีและความกตัญญูของเขา และในเวลาต่อมาประเพณีนี้ได้เปลี่ยนแปลงกลายเป็นธรรมเนียมไปไหว้บรรพบุรุษที่สุสานหรือกลายเป็นวันเช็งเม้งจนถึงปัจจุบันนั่นเอง

สิ่งที่เราต้องทำในช่วงเช็งเม้ง

ไปไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน โดยจะไหว้กันในช่วงเช้าก่อนเที่ยง ซึ่งของไหว้ก็จะมีทั้งอาหารคาวหวานอย่าง ไก่ต้ม หมูสามชั้น บะหมี่สด ของหวานก็เป็น ข้าวเหนียวกวน ขนมถ้วยฟู ผลไม้ และน้ำชา สิ่งที่จะต้องมีคู่กันเลยขาดไม่ได้ก็คือ ธูปเทียนแดง กระดาษเงินกระดาษทอง และธงประดับหลากสีที่จะเอาไว้ตกแต่งฮวงซุ้ย

ขั้นตอนการไหว้ในช่วงเช็งเม้ง

1.        เริ่มต้นจากไปไหว้ศาลแป๊ะกง

2.        ไปทำความสะอาดฮวงซุ้ย ปัดกวาดและทาสีตัวอักษรป้ายหลุมศพใหม่

3.        จัดเรียงของไหว้

4.        ประดับตกแต่งฮวงซุ้ยด้วยธงประดับหลากสี หรือสายรุ้ง

5.        ครอบครัวมานั่งรับประทานอาหารกันที่หน้าฮวงซุ้ย

เทศกาลเช็งเม้ง จึงถือว่าเป็นหนึ่งธรรมเนียมประเพณีที่ดี ที่ควรสืบสานต่อไป เพราะเป็นช่วงเวลาที่เราได้หวนกลับมาระลึกถึงบรรพบุรุษผู้มีพระคุณของเรา เป็นการแสดงความกตัญญูและเป็นการชำระจิตใจของเราไปในตัว และยังเป็นประเพณีที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวอีกด้วย

อยู่บ้านและช้อปอย่างสบายใจไปด้วยกันกับ #ShopeeFromHome Month ช้อปสินค้าอุปโภคบริโภค ของใช้ในบ้าน อาหาร น้ำดื่ม อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง และอุปกรณ์จำเป็นในชีวิตประจำวันลดราคาถูกสุดๆ ช้อปแค่ 0 บาทก็ส่งฟรีถึงบ้าน! พร้อมรับ Coin Cashback ปังๆ 20% ทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 6 – 29 เมษายนนี้!